Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

การศึกษาชี้ สิ่งมีชีวิตน่าจะรู้จัก ‘ความเข้าอกเข้าใจกัน’ ตั้งแต่ยุคโบราณ


การศึกษาชี้ สิ่งมีชีวิตน่าจะรู้จัก ‘ความเข้าอกเข้าใจกัน’ ตั้งแต่ยุคโบราณ

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า ความสามารถของคนเราในการแบ่งปันประสบการณ์อาจมีอยู่ในสัตว์ต่าง ๆ ที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่เมื่อหลายล้านปีก่อน และก่อนที่ปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายจะมีดำเนินเส้นทางวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์มักจะต่อต้านในเรื่องของการกำหนดความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนมนุษย์ให้กับสัตว์ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สัตว์หลายชนิดซึ่งรวมทั้งปลานั้นมีอารมณ์ที่หลากหลาย

แต่ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาก็สามารถรับรู้ถึงความหวาดกลัวในปลาตัวอื่นได้ ก่อนที่พวกมันจะรู้สึกกลัวตามไปด้วย โดยทักษะดังกล่าวนี้ถูกควบคุมโดยออกซิโทซิน (oxytocin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองชนิดเดียวกับที่มีบทบาทในความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นของมนุษย์เรา




นักวิจัยทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยวิธีลบยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการดูดซึมสารออกซิโทซินในสมองของปลาม้าลาย ซึ่งเป็นปลาเขตร้อนขนาดเล็กที่มักใช้ในการวิจัย หลังจากนั้น ปลาเหล่านั้นมีพฤติกรรมที่เหมือนต่อต้านสังคม โดยพวกมันไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองเมื่อปลาตัวอื่น ๆ แสดงความกังวล

และเมื่อปลาม้าลายที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปบางตัวได้รับการฉีดสารออกซิโทซินเข้าไป ความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อความรู้สึกของปลาตัวอื่นก็กลับคืนมา โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการทางสมองนี้ว่า "การติดต่อทางอารมณ์"

อิบูคูน อาคินรินาเด (Ibukun Akinrinade) จากมหาวิทยาลัยแห่งคัลการี (University of Calgary) ในแคนาดา ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้พูดถึงปลาในการทดลองว่า “พวกมันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อเห็นปลาตัวอื่น ๆ ตกใจกลัว” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับมนุษย์

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ออกซิโทซินมีบทบาทที่คล้ายกันในการส่งผ่านความกลัวให้แก่หนูในการทดลอง

แต่ รูอี โอลิเวียร่า (Rui Oliveira) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยอีกคนหนึ่งจากสถาบันวิทยาศาสตร์ กัลป์เบนเคียน (Gulbenkian) ของโปรตุเกส กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นใหม่นี้แสดงให้เห็นถึง "บทบาทที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ” ของออกซิโทซินในการถ่ายทอดอารมณ์

ส่วน ฮานส์ ฮอฟมานน์ (Hans Hofmann) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส (University of Texas) วิทยาเขตออสติน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้อธิบายว่า กระบวนการทางสมองนี้ “อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ 450 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่มนุษย์เราและปลาตัวน้อยเหล่านี้มีบรรพบุรุษร่วมกัน”

และแม้บางครั้ง ออกซิโทซินก็ถูกมองว่าเป็นฮอร์โมน "ความรัก" ฮอฟมานน์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นเหมือนกับ "เทอร์โมสแตท หรือตัวควบคุมอุณหภูมิ ที่กำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในสังคม" ในส่วนของสมองที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ "ซึ่งอาจทำให้คุณวิ่งหนีจากอันตราย" หรือ มีส่วนร่วมในการผสมพันธุ์หรือสืบพันธุ์


คาร์ล ซาฟีนา (Carl Safina) จากมหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ค (Stony Brook University) ซึ่งเป็นอีกคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษา กล่าวว่า เทอร์โมสแตทดังกล่าวอาจมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พร้อมระบุว่า “รูปแบบของการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่สำคัญที่สุด คือความกลัวที่สามารถติดต่อกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่ควรจะมีไว้ในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป….”

ค้นหาบล็อกนี้

รายการบล็อกของฉัน