Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ขุดพบกะโหลกศีรษะของหญิงผู้หนึ่งเก่าแก่ราว 6,000 ปี ชี้ว่ามีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องหูถึง 2 ครั้ง

ขุดพบกะโหลกศีรษะของหญิงผู้หนึ่งเก่าแก่ราว 6,000 ปี ชี้ว่ามีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องหูถึง 2 ครั้ง

กะโหลกศีรษะของหญิงวัย 35-50 ปี ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 6,000 ปีก่อน

ร่องรอยที่พบกะโหลกศีรษะของหญิงผู้หนึ่งซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 6,000 ปี ชี้ว่ามีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องหูถึง 2 ครั้ง นับว่าเป็นการผ่าตัดทางการแพทย์เข้าไปในส่วนลึกของหูครั้งแรกของโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยวาญาโดลิด (University of Valladolid) ของสเปน ตีพิมพ์รายงานการค้นพบข้างต้นในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่ากะโหลกศีรษะดังกล่าวมาจากสุสานโบราณ Dolmen of El Pendónis ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะของหญิงวัย 35-50 ปี ซึ่งนับว่าอยู่ในวัยชราตามเกณฑ์อายุขัยของคนโบราณในสมัยนั้น มีร่องรอยการใช้ของมีคมกรีดเป็นรูปตัววี (V) และร่องรอยการเจาะกะโหลกศีรษะตรงด้านหลังใบหู ซึ่งเป็นที่ตั้งของโพรงกระดูกมาสตอยด์ (Mastoid) ที่อาจเกิดการอักเสบจนมีหนองคั่งอยู่ภายใน

สันนิษฐานว่าหญิงผู้นี้อาจป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ยังพบได้บ่อยครั้งในปัจจุบัน ทำให้ปวดหูอย่างรุนแรงและเป็นไข้เนื่องจากมีของเหลวสะสมที่ด้านหลังเยื่อแก้วหู โดยในบางครั้งของเหลวนี้จะดันผิวให้นูนขึ้นจนปรากฏเป็นก้อนที่ด้านข้างของศีรษะ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยิน และหากไม่รักษาให้ทันท่วงที อาการอักเสบอาจลุกลามไปถึงเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก จนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

รูปกะโหลกมีกรอบสีขาว

ร่องรอยการกรีดและเจาะกะโหลกศีรษะหลังใบหู เพื่อรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเข้าไปในส่วนลึกของหูตรงโพรงกระดูกมาสตอยด์ เพื่อนำเอาหนองและของเหลวที่คั่งอยู่ออกนั้น น่าจะเป็นวิธีรักษาที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้อย่างแสนสาหัส เพราะเมื่อหลายพันปีก่อนยังไม่มียาชาหรือยาสลบที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทรมานได้ จึงอาจต้องใช้คนช่วยกันจับตัวไม่ให้ผู้รับการผ่าตัดดิ้นรน หรือใช้ของมึนเมาทำให้รู้สึกตัวไม่ได้เต็มที่เข้าช่วย

ในกรณีของหญิงยุคโบราณผู้นี้ ดูเหมือนว่าการผ่าตัดหูทั้งสองข้างเพื่อรักษาอาการอักเสบจะได้ผล เนื่องจากมีร่องรอยของกระดูกที่เสื่อมสภาพจากการติดเชื้อในอดีต ฟื้นตัวและประสานกันในส่วนเนื้อกระดูกที่เกิดขึ้นก่อนหญิงผู้นี้จะเสียชีวิต โดยร่องรอยบ่งชี้ว่ามีการผ่าตัดหูข้างขวาก่อนข้างซ้าย แต่ไม่ทราบว่าการผ่าตัดทั้งสองครั้งทำติดต่อกันหรือเว้นระยะห่างนานเท่าใดแน่

จากการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีมา อาจถือได้ว่าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เป็นการผ่าตัดที่กระดูกขมับทั้งสองข้างและการผ่าตัดหูครั้งแรกของโลก ซึ่งมีหลักฐานชั้นต้นยืนยันอย่างเป็นรูปธรรม

ก่อนหน้านั้นนักโบราณคดีมีเพียงหลักฐานเอกสาร ที่ระบุถึงการผ่าตัดหูแบบคล้ายกันในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดหูแบบแพทย์แผนปัจจุบันไม่เคยมีขึ้นจนกระทั่งถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19

ค้นหาบล็อกนี้

รายการบล็อกของฉัน